โรคน้ำกัดเท้า หรือฮ่องกงฟุต
เป็นเรื่องยากที่จะเลี่ยงการลุยน้ำขังในช่วงหน้าฝนแบบนี้ โรคน้ำกัดเท้า หรือฮ่องกงฟุตจึงเป็นโรคผิวหนังที่พบได้บ่อยในช่วงน้ำท่วม
โรคนี้เกิดได้จากการเดินยํ่านํ้าบ่อยๆ หรือยืนแช่นํ้าที่สกปรกเป็นเวลานานๆ ส่งผลให้ให้ผิวหนังเปื่อย โดยเฉพาะบริเวณซอกนิ้วเท้า ซึ่งจะทำให้เกิดการระคายเคืองของผิวหนังได้
อาการของโรคแบ่งเป็น 3 ระยะคือ
ระยะที่ 1 ช่วง 1-3 วันแรก ผิวหนังเปื่อยเมื่อแช่น้ำ แดงคัน แสบ ระคายเคืองและมีการลอกเล็กน้อย ในระยะนี้ให้สังเกตตนเอง และดูแลรักษาความสะอาดแนะนำปรึกษาเภสัชกรเพื่อหายามาทา
ระยะที่ 2 ช่วง 3-10 วัน อาจมีการติดเชื้อแบคทีเรีย ติดเชื้อรา ผิวหนังจะเปื่อยมีรอยฉีกขาด มีอาการแดง บวม ปวดเจ็บ อาจจะมีหนอง หรือน้ำเหลืองซึม ควรรีบไปพบแพทย์อย่างด่วน
ช่วงที่ 3 ช่วง 10-20 วัน ถ้าแช่น้ำต่อเนื่อง และไม่ได้รับการรักษาที่ถูกต้อง ผิวหนังจะเริ่มแดง คันมีขุยขาว เปียก เหม็น ผิวหนังจะเปื่อยเป็นสีขาวเป็นขุย หรือลอกบางเป็นสีแดง เป็นระยะที่อันตรายมาก
แนวทางการป้องกัน
หลังจากการลุยน้ำแล้ว แนะนำให้ล้างเท้า หรือบริเวณผิวหนังที่ลุยน้ำขังมา ด้วยน้ำสะอาดและสบู่ หากเท้ามีบาดแผล ควรล้างด้วยนํ้ายาฆ่าเชื้อ ถ้าไม่มีจริงๆแนะนำใช้ทิชชู่เปียกหรือแอลกอฮอล์ในการทำความสะอาด จากนั้นเช็ดเท้าให้แห้งอยู่เสมอ ถ้าสะดวกให้ทาครีมบำรุงผิวด้วยก็จะดี
แนวทางการรักษา
หากมีอาการผิวหนังเปื่อย แดงคัน แสบ ระคายเคืองและมีการลอกเล็กน้อย ในระยะแรก แนะนำปรึกษาเภสัชกรที่ร้านขายยาให้บ้านเพื่อหายามาทาให้ถูกต้อง
แต่หากมีผื่นและมีรอยเปื่อยฉีกขาดของผิวหนัง มีอาการบวมแดง เจ็บปวด หรือมีหนองเนื่องจากการติดเชื้อแบคทีเรียที่รุนแรงขึ้น ควรรีบพบแพทย์ผิวหนังทันที
ข้อควรระวัง : การรักษาโรคติดเชื้อแบคทีเรียหรือเชื้อราที่ผิวหนัง ต้องทายา
และรับประทานยาให้ครบตามระยะเวลาที่กําหนด หากไม่ปฏิบัติอย่างเคร่งครัดอาจทําให้ไม่หายขาด และเชื้ออาจพัฒนาไปเป็นการดื้อยา
“เมื่อหายดีแล้วให้รักษาความสะอาดของเท้า และให้เท้าแห้งอยู่เสมอเพื่อป้องกันการกลับมาเป็นซ้ำอีก” ด้วยความปรารถนาดีจากโรงพยาบาลเวชศาสตร์เขตร้อน
นัดหมายพบแพทย์คลินิกผิวหนัง https://tropmedhospital.net/booking/skin-clinic.html
ขอขอบคุณข้อมูลจาก : คู่มือการดูแลปัญหาผิวหนังเบื้องต้น สำหรับประชาชนเมื่อประสบอุทกภัย โดยสถาบันโรคผิวหนัง https://drive.google.com/file/d/1CF5ci1oS8WhdlD-ldD6U6doikxPIKLyN/view