ยาลดไข้กับโรคไข้เลือดออก
โรคไข้เลือดออกโดยทั่วไป สามารถแบ่งได้เป็น 3 ระยะ คือ ระยะไข้ ระยะช็อก และระยะฟื้น แต่ถ้าเป็นแบบไม่รุนแรง
ก็จะไม่มีระยะช็อก
การรักษาและการใช้ยา
เนื่องจากโรคนี้ไม่มียารักษาโดยเฉพาะจึงเป็นการรักษาตามอาการคือ ให้ยาลดไข้ โดยยาลดไข้ที่ใช้ต้องไม่กัดกระเพาะหรือ
ทำให้เลือดออกง่าย ยาที่ค่อนข้างปลอดภัย คือพาราเซทตามอล แต่ต้องระวังว่าอย่าใช้ยานี้เกินขนาด ควรใช้ยาตามฉลากยาหรือ ตามแพทย์สั่งอย่างเคร่งครัด หากกินยาลดไข้ แล้วยังมีไข้สูง ให้เช็ดตัวด้วยน้ำอุ่นร่วมด้วย และกินยาซ้ำ ทุก 4-6 ชั่วโมง
ในรายที่มีอาการอาเจียนบ่อย สามารถรับประทานยาแก้อาเจียนและเกลือแร่ได้ สำหรับรายที่มีอาการรุนแรง (เช่น ไข้สูงมาก ชัก อาเจียนบ่อยมาก กินอาหารไม่ได้ มีเลือดออกง่าย ซึม หรือตรวจเลือดแล้วพบเกล็ดเลือดต่ำ) หรือกำลังจะเข้าสู่ระยะช็อก อาจจะต้องเข้ารับการรักษาตัวในโรงพยาบาล โดยการรักษาที่สำคัญจะเป็นการให้น้ำเกลือทางเส้นเลือดจนกว่าคนไข้จะเข้าสู่ระยะฟื้น
ยาที่อันตรายสำหรับผู้ที่เป็นไข้เลือดออก
ยาแก้ปวดในกลุ่มยาต้านการอักเสบชนิดที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ (NSAIDs) เช่น แอสไพริน ไอบูโพรเฟน เป็นต้น ไม่ควรใช้ยาในกลุ่มนี้เนื่องจากยาอาจทำให้เลือดออกมากขึ้น
วัคซีนไข้เลือดออก
ปัจจุบันมีวัคซีนป้องกันโรคไข้เลือดออกชนิดเดียวที่ได้รับการรับรองให้ใช้ คือวัคซีน CYD-TDV เป็นวัคซีนขนิดมีชีวิตที่ถูกทำให้
อ่อนฤทธิ์ มีเชื้อไวรัสเดงกี่ที่เป็นสาเหตุของโรค 4 สายพันธุ์ กำหนดให้ฉีด 3 ครั้ง ห่างกันทุก 6 เดือน
วัคซีนไข้เลือดออกสามารถใช้เพื่อป้องกันเชื้อไวรัสไข้เลือดออกเดงกี่จากทั้งสายพันธุ์ คือ DENV-1, DENV-2, DENV-3, DENV-4 ในผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 9 – 45 ปี ที่อยู่ในพื้นที่แพร่ระบาด จากงานวิจัยพบว่า ในคนที่ไม่เคยติดเชื้อไข้เลือดออกมาก่อน วัคซีนอาจเพิ่มความเสี่ยงที่จะป่วยด้วยโรคไข้เลือดออกรุนแรง หากถูกยุงลายที่มีเชื้อกัดในภายหลัง ดังนั้นจึงแนะนำให้ใช้เฉพาะคนที่เคยติดเชื้อไข้เลือดออกมาแล้วเท่านั้น ส่วนประสิทธิภาพของวัคซีน พบว่า
- สามารถป้องกันโรคไข้เลือดออกได้ 65.6 %
- ลดความรุนแรงของโรค 93.2 %
- ลดอัตราการนอนโรงพยาบาล 80.8 %
….หน่วยวิชาการ งานเภสัชกรรม โรงพยาบาลเวชศาสตร์เขตร้อน