โรคอุจจาระร่วงเฉียบพลัน (Acute diarrhea)
โรคอุจจาระร่วงหรือท้องเสียเฉียบพลัน เป็นโรคที่พบได้บ่อยในเวชปฏิบัติ พบได้ทุกเพศทุกวัย นิยามของท้องเสียโดยองค์การอนามัยโลก (WHO) คือ การถ่ายอุจจาระเหลวหรือเป็นน้ำตั้งแต่ 3 ครั้งขึ้นไปใน 24 ชั่วโมงหรือถ่ายเป็นมูกเลือด 1 ครั้งขึ้นไปใน 24 ชั่วโมง ในที่นี้จะขอกล่าวถึงอาการท้องเสียเฉียบพลันซึ่งอาการท้องเสียจะเกิดขึ้นระยะเวลาไม่เกิน 2 สัปดาห์ หากปล่อยให้เกิดอาการท้องเสียโดยที่ไม่ได้รับการรักษา อาจทำให้ผู้ป่วยสูญเสียเกลือแร่ สารน้ำ และช็อค ซึ่งทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนต่างๆ ตามมาได้
สาเหตุ
สาเหตุที่ทำให้เกิดอาการท้องเสียเฉียบพลัน ในที่นี้จะแบ่งออกเป็นสาเหตุดังต่อไปนี้
- การติดเชื้อในระบบทางเดินอาหาร ไม่ว่าจะเป็น การติดเชื้อ แบคทีเรีย, ไวรัส, พยาธิ เป็นต้น
- การได้รับยาหรือสารพิษต่างๆ เช่น ยาปฏิชีวนะ, ยาระบาย, ยารักษาโรคเก๊าท์ เป็นต้น
- โรคอื่นๆ ในระบบทางเดินอาหาร เช่น ไส้ติ่งอักเสบ, เยื่อบุช่องท้องอักเสบ, ลำไส้ขาดเลือด เป็นต้น
- การติดเชื้อ อื่นๆ นอกระบบทางเดินอาหาร เช่น เลปโตสไปโรสิส, มาลาเรีย เป็นต้น
อาการและอาการแสดง
อาการที่ผู้ป่วยจะมาพบแพทย์ได้แก่ อาการท้องเสียเป็นน้ำหรืออาจจะมีมูกเลือดปนได้ ปวดท้อง ปวดเบ่ง คลื่นไส้ อาเจียนหรือมีไข้ได้ เป็นต้น นอกจากอาการทางด้านระบบทางเดินอาหารแล้ว ผู้ป่วยอาจจะมีอาการอื่นๆ ร่วมด้วย ได้แก่ อาการของการสูญเสียสารน้ำและเกลือแร่ ปากแห้ง อ่อนเพลีย ไม่มีแรง ปัสสาวะออกลดลง ความดันต่ำและช๊อคได้ เป็นต้น ทั้งนี้ความรุนแรงจะขึ้นอยู่กับสาเหตุของอาการท้องเสียเฉียบพลันด้วย
การตรวจทางห้องปฏิบัติการ
ผู้ป่วยที่มีอาการท้องเสียเฉียบพลัน ควรส่งตรวจอุจจาระที่เพิ่งถ่ายใหม่ๆ (fresh smear) เพื่อดูปริมาณเม็ดเลือดแดง เม็ดเลือดขาว นอกจากนี้ยังสามารถเห็นแบคทีเรียหรือพยาธิบางชนิดได้ ในบางรายควรส่งตรวจอุจจาระเพาะเชื้อ เช่น ผู้ป่วยที่มีไข้สูง ท้องเสียเป็นมูกเลือด ผู้สูงอายุ ฯลฯ และควรส่งตรวจเลือดทางห้องปฏิบัติการ เช่น ดูความผิดปกติของเกลือแร่ เป็นต้น
การรักษา
ในที่นี้ขอแบ่งการรักษาผู้ป่วยท้องเสียเฉียบพลันดังต่อไปนี้
- การรักษาแบบจำเพาะเจาะจง (Specific treatment) ขึ้นอยู่กับเชื้อที่ตรวจเจอและให้ในผู้ป่วยบางกลุ่มเท่านั้น เช่น หากตรวจเจอเชื้อแบคทีเรีย จะให้ยาปฏิชีวนะตามชนิดของเชื้อแบคทีเรีย หากเจอพยาธิ ให้ยาฆ่าพยาธิ เป็นต้น
- การรักษาตามอาการ (Supportive treatment) ได้แก่ การแก้ไขภาวะขาดน้ำและเกลือแร่ คือ การให้น้ำเกลือในรูปแบบของการดื่ม (ORS) หรือ การให้สารน้ำทางหลอดเลือดดำหากมีการสูญเสียสารน้ำในปริมาณที่มาก, การให้ยาลดอาการท้องเสีย ในผู้ป่วยบางราย, การให้ยาลดอาการปวดท้อง คลื่นไส้อาเจียนหรือยาลดไข้ เป็นต้น
อาการที่ต้องรีบมาพบแพทย์
หากมีอาการท้องเสียเฉียบพลันร่วมกับอาการดังต่อไปนี้ ควรรีบมาพบแพทย์ ได้แก่
- มีไข้สูงเกิน 38 องศาเซลเซียส
- อุจจาระเป็นมูกหรือมูกเลือดหรือมีอาการปวดท้องอย่างรุนแรง
- ถ่ายเป็นน้ำอย่างรุนแรงและปริมาณมากคล้ายน้ำซาวข้าว
- ผู้ป่วยมีโรคประจำตัวเยอะ หรืออายุมากกว่า 65 ปีขึ้นไป หรือผู้ป่วยที่เพิ่งเดินทางกลับมาจากการท่องเที่ยวในต่างประเทศ หรือผู้ป่วยเด็กเล็ก เป็นต้น
- ผู้ป่วยมีอาการซึม กระสับกระส่าย ปากแห้ง ปัสสาวะออกน้อยลง
การป้องกัน
- ล้างมือให้สะอาดทุกครั้งก่อนปรุงอาหาร หรือรับประทานอาหาร
- รับประทานอาหารที่สะอาดและสุกใหม่และหลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารที่ค้างคืน
- ดื่มน้ำที่สะอาดหรือน้ำต้มสุก
- ผักสดหรือผลไม้ ควรล้างให้สะอาดด้วยน้ำยาล้างผัก น้ำด่างทับทิม เป็นต้น
- มีภาชนะปกปิดอาหารป้องกันแมลงวันตอม