วันหมดอายุของยา
ยาเม็ดที่อยู่ในแผงหรือบรรจุภัณฑ์ของผู้ผลิต
สังเกตวันหมดอายุที่ระบุไว้บนฉลากหรือบรรจุภัณฑ์ หากระบุ เดือน/ปี ให้ถือว่าวันหมดอายุคือ วันสุดท้ายในเดือนนั้นๆ
ยาที่แบ่งบรรจุ หรือนำยามาแบ่งจากภาชนะเดิม
เช่น ยานับเม็ด หรือครีมที่ป้ายมาจากกระปุกใหญ่ ยาน้ำในขวดพลาสติก จะส่งผลให้วันหมดอายุของยาเปลี่ยนแปลงไป
ไม่ใช่วันหมดอายุที่กำหนดโดยบริษัทผู้ผลิต ซึ่งวันหมดอายุของยาเหล่านี้จะต้องกำหนดวันหมดอายุขึ้นใหม่ โดยนับจากวันที่
แบ่งบรรจุ 1 ปี
ดังนั้นหากเหลือยาแบ่งบรรจุเก็บไว้ที่บ้าน ไม่รู้ว่าจะหมดอายุเมื่อไหร่ ก็อาจพิจารณาจากวันที่บนฉลากยา
หรือซองที่ระบุวันที่ได้รับยามา หากเกิน 1 ปี ก็ให้ทิ้งไปไม่ควรใช้ต่อ
ยาน้ำที่มีสารกันเสีย
ยาน้ำที่มีสารกันเสีย ทั้งชนิดรับประทานและใช้ภายนอกหลังเปิดใช้แล้วควรเก็บไว้ไม่เกิน 6 เดือน
ยาผงแห้งผสมน้ำ
หลังจากผสมน้ำแล้ว ให้ยึดข้อมูลวันหมดอายุตามข้อมูลที่บริษัทระบุไว้บนฉลาก
ยาหยอดตาที่ใส่สารต้านการเจริญเติบโตของเชื้อโรค (Preservative)
และยาป้ายตา
หากเปิดใช้แล้ว มีอายุ 1 เดือน
ยาหยอดตาที่ชนิดที่ไม่ใส่สารต้านการเจริญเติบโตของเชื้อโรค (Preservative)
หากเปิดใช้แล้ว ควรใช้ให้หมดภายใน 1 วัน
ยาครีมหรือเจลทาภายนอก
เช่น ยาทาแก้ปวด วันหมดอายุยึดตามวันหมดอายุที่ผลิตภัณฑ์ แต่ควรดูว่ามีการเสื่อมสภาพหรือไม่ และควรบีบยาส่วนที่สัมผัสอากาศทิ้งเล็กน้อยก่อนใช้
การเก็บรักษายาที่ถูกต้อง
- ใส่ตู้ยา หลีกเลี่ยงที่อับชื้นและแสงแดด
- เก็บยาในสถานที่ ที่เด็กหยิบไม่ถึง
- เก็บยาในที่ที่เหมาะสมตามที่ระบุในฉลาก ยาทั่วไปที่ไม่ระบุการเก็บรักษาเป็นพิเศษ ให้เก็บที่อุณหภูมิห้อง หากฉลากระบุว่าต้องเก็บในตู้เย็น ส่วนใหญ่จะเก็บในช่องปกติ
- เพื่อป้องกันการหยิบยาผิด ไม่ควรเก็บยาต่างชนิดกันในภาชนะเดียวกัน และ ไม่ควรเก็บยาสำหรับใช้ภายในและยาสำหรับใช้ภายนอกไว้ใกล้เคียงกัน
ยาจะมีคุณภาพที่ดีจนถึงวันหมดอายุยาได้ หากอยู่ภายใต้การจัดเก็บที่เหมาะสมตามที่แนะนำโดยบริษัทผู้ผลิต
แต่หากมีการจัดเก็บยาที่ไม่เหมาะสม ยาจะเสื่อมสภาพและมีคุณภาพลดลงต่ำกว่ามาตรฐานก่อนวันหมดอายุ
ดังนั้นการสังเกตลักษณะทางกายภาพของยาร่วมด้วยจึงจัดเป็นสิ่งที่สำคัญ เพราะหากยามีลักษณะที่เปลี่ยนไป
ก็อาจอนุมานได้ว่าคุณภาพของยาน่าจะเปลี่ยนแปลงและไม่ควรใช้ยานั้นต่อไป”
….หน่วยวิชาการ งานเภสัชกรรม โรงพยาบาลเวชศาสตร์เขตร้อน