ไวรัสตับอักเสบ (Hepatitis)
ปัจจุบันไวรัสตับอักเสบที่ค้นพบว่าก่อโรคในคนได้บ่อยๆประกอบด้วยไวรัสตับอักเสบชนิด เอ บี ซี ดี และ อี โดยสาเหตุ
นั้นเกิดจากการติดเชื้อไวรัสเข้าไปในตับโดยแต่ละชนิดจะมีความแตกต่างกันในการดำเนินโรค ในบทความ นี้จะว่ากันไป
ตามลำดับตัวอักษร
ไวรัสตับอักเสบ เอ
ว่ากันว่าเชื้อตัวนี้เป็นไวรัสดั่งเดิมที่มีการกล่าวไว้ตั้งแต่สมัยอียิปต์โบราณ มีการบรรยายไว้ถึงการระบาดโดยเกิดดีซ่าน
กันทั้งเมือง ไวรัส เอ นี้การติดต่อเกิดขึ้นได้ง่ายทางการรับประทานอาหารหรือน้ำที่ปนเปื้อนเชื้อโรค หลังจากที่เชื้อโรคผ่าน
กระเพาะ ไปยังลำไส้ในเบื้องต้นเชื้อจะฝังตัวอยู่ในลำไส้หลังจากนั้นก็จะกระจายเข้าสู่ตับอันเป็นที่อยู่ที่อุดมสมบูรณ์สำหรับ
เชื้อตัวนี้ หลังจากรับเชื้อประมาณ 1-2 สัปดาห์ จะเกิดอาการตับอักเสบเฉียบพลันคือ อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร ดีซ่าน
โดยในผู้ใหญ่จะมีอาการมากกว่าในเด็ก ในประเทศไทยในปัจจุบันการระบาดไม่ได้เกิดขึ้นบ่อย การระบาดที่มีรายงาน
ในช่วงหลังมักจะเกิดตามแหล่งที่มีการอยู่อาศัยกันอย่างหนาแน่นเช่นบ้านเด็กอ่อน ค่ายทหาร รวมไปถึงล่าสุด มีการระบาดตามจังหวัดแนวตะเข็บชายแดน ไวรัสตับอักเสบเอเป็นไวรัสที่เป็นเฉียบพลัน หายแล้วหายขาดในคนที่มีภูมิคุ้มกันแล้วจะไม่เป็นซ้ำอีก ปัญหาในปัจจุบันพบน้อยลงตามลำดับจากสาธารณสุขที่ดี ขึ้นของ ประเทศ นอกจากนี้ในปัจจุบันยังมีวัคซีนป้องกันได้อีกด้วย
ไวรัสตับอักเสบ บี
เป็นปัญหาที่สำคัญของประเทศไทยรวมไปถึงเพื่อนบ้านใน AEC ทั้งหมดอีกด้วย ประชากรไทยในปัจจุบันถึง ประมาณ
ร้อยละ 3 ที่มีเชื้อไวรัสตับอักเสบบีอยู่ในร่างกาย สาเหตุที่มีผู้ติดเชื้อมากเนื่องจากการติดเชื้อในภูมิภาคนี้นั้นมักเกิดจากการติดเชื้อ จากแม่สู่ลูก ซึ่งกว่ายี่สิบปีก่อนยังไม่มีการฉีดวัคซีนป้องกันเด็กแรกเกิด แม่ที่เป็นพาหะไวรัสตับอักเสบบีทำให้เด็ก เหล่านั้นส่วนใหญ่ติดเชื้อระหว่างการคลอด การติดเชื้อจากสาเหตุนี้มักจะทำให้เกิดการแฝงตัวเป็นไวรัสตับอักเสบเรื้อรัง โดยผลที่เกิดในระยะยาวของการติดเชื้อไวรัสบีนั้นคือ ผู้ป่วยมีความเสี่ยงสูงที่จะเกิดภาวะตับแข็ง และมะเร็งตับได้ในระยะยาว หากไม่ได้รับการติดตามรักษาที่เหมาะสม
ในปัจจุบันไวรัสตับอักเสบบีเรื้อรังมีแนวทางในการรักษาได้ในบางระยะของโรคเพื่อลดความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะ แทรกซ้อนในระยะยาวดังกล่าว การติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบีในประเทศโลกตะวันออก แตกต่างกับในประเทศโลกตะวันตกที่มีความชุกของไวรัสตับอักเสบบีน้อยกว่า การติดเชื้อมักเกิดขึ้นในวัยผู้ใหญ่ โดยอาการแสดงของโรคมักจะเป็นตับอักเสบแบบเฉียบพลันและผู้ป่วยมักจะสามารถกำจัดเชื้อออกจากร่างกายทำให้หายขาดได้
ไวรัสตับอักเสบ ซี
เป็นไวรัสตับอักเสบเรื้อรังอีกชนิดหนึ่ง การติดเชื้อเกิดจากการรับเลือดหรือการใช้ของมีคมร่วมกับผู้อื่น เช่น การสัก หรือการใช้เข็มฉีดยาที่ไม่สะอาดโดยเฉพาะในผู้ที่ใช้ยาเสพติดชนิดฉีดเข้าเส้น ในประเทศไทยพบ ได้ในกลุ่มที่มีความเสี่ยงที่ว่ามา อาจมีประมาณ ร้อยละ 1 ของประชากร ไวรัสชนิดนี้มักไม่ทำให้เกิดอาการผิดปกติใดๆ จากภาวะตับอักเสบฉับพลัน แต่จะทำให้เกิดการอักเสบเรื้อรังของตับ เมื่อมีการอักเสบไปนานๆ ก็จะเกิดพังผืดสะสมในตับจนกลายเป็นตับแข็งในที่สุด ในปัจจุบันมีการรักษา สามารถทำให้หายขาดได้ในผู้ป่วยหลายๆราย
ไวรัสตับอักเสบ ดี
เป็นไวรัสที่แฝงมากับไวรัสตับอักเสบ บี พบได้มากในกลุ่มประเทศยุโรปมากกว่าในประเทศไทย โดยไวรัสตัวนี้เป็น ไวรัสที่ไม่สมบูรณ์ในตัวเอง หรือเป็นไวรัสพิการนั่นเอง ต้องอาศัยส่วนประกอบของไวรัสตับอักเสบบี ในการแบ่งตัว
ดังนั้นการติดเชื้อจะเกิดขึ้นพร้อมกับไวรัสตับอักเสบบีหรือเกิดในผู้ป่วยที่มีเชื้อไวรัสตับอักเสบบีแฝงอยู่ ในร่างกาย โดยอาการจะทำให้เกิดตับอักเสบซ้ำซ้อนขึ้นมาในผู้ป่วยไวรัสตับอักเสบบี การรักษาเป็นการรักษาร่วมกันไปกับไวรัสตับอักเสบบี
ไวรัสตับอักเสบ อี
ไวรัสนี้เป็นไวรัสน้องใหม่ที่มีการตรวจพบมากขึ้นในระยะหลัง ในประเทศไทยไวรัสตับอักเสบอี พบได้ประปราย การเกิดโรคจะทำให้เกิดตับอักเสบเฉียบพลัน ตัวเหลืองตาเหลือง ผู้ป่วยหลายๆรายอาจมีอาการเหลืองนานเป็นอาทิตย์ หรือ สองสามเดือนได้ โดยเชื้อนี้ พบได้ทั้งในสัตว์เช่น หมู กวาง และสัตว์อื่นๆ อีกหลายชนิด การเกิดโรคในคนนั้นผู้ป่วยหลายๆ รายมีประวัติสัมผัสหรือรับประทานอาหารสุกๆดิบๆ ซึ่งเป็นเหตุของการติดเชื้อได้
ไข่พยาธิตัวตืด (เม็ดสาคู)
พยาธิตืดหมู
พยาธิตืดวัว